วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของกล้วย
น่ารัก
ในเอกสารโบราณกล่าวว่า  กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย  พบมีอยู่มากในแถบเอเชียตอนใต้  โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย  พม่า  เขมร  จีนตอนใต้  หมู่เกาะอินโดนีเซีย  เกาะบอร์เนียว  ฟิลิปปินส์  และไต้หวัน
กล้วยในประเทศที่กล่าวถึงนั้น  เป็นกล้วยป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ  ซึ่งต่อมาเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นว่าสัตว์ต่างๆ  กินกล้วยเป็นอาหารได้  มนุษย์จึงลองกินกล้วยดู  และเมื่อเห็นว่ากล้วยกินเป็นอาหารได้  มนุษย์จึงเริ่มรู้จักวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด  หน่อ  ติดตัวไปยังสถานที่ที่อพยพไป  ทำให้กล้วยแพร่หลายไปยังถิ่นต่างๆ  มากยิ่งขึ้น  จนมีผู้กล่าวว่า  กล้วยเป็นอาหารชนิดแรกของมนุษย์  และเป็นพืชชนิดแรกที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน
ในพระพุทธศาสนา  มีการวาดภาพต้นกล้วยในงานจิตรกรรม  ในภาพวาดเป็นการนำกล้วยไปสักการะพระเจ้ากาละ
จีนโบราณมีการบันทึกไว้ว่า  มีกล้วยอยู่  12  ชนิด  ได้แก่  ปารู  กัน-เชียว  ยาเชียว  ปาเชียว  นันเชียว  เทียนเชียว  ชีเชียว  ชุงเชียว  เมเจนเชียว  โปโชวเชียว  ยังเชียวเชียว  ยูฟูเชียว  กล้วยเหล่านี้ปลูกมากที่กวางตุ้ง  ฟูเกียง  ฯลฯ
กล้วยมีเส้นทางการเผยแพร่ราวกับนิยาย  เมื่อประมาณ  ปี  ค.ศ.200  บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนยังไม่มีการปลูกกล้วย  จนถึง  ค.ศ.650  เมื่อชาวอาหรับเดินทางติดต่อค้าขายกับแอฟริกา  พวกอาหรับได้นำกล้วยมาเผยแพร่ที่แอฟริกาด้วย
ในราวศตวรรษที่  15  เมื่อชาวยุโรปเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ  เพื่อ  การสำรวจและแสวงหาดินแดนใหม่  ณ  เวลานั้นปรากฏว่า  แถบชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตก  ประชาชนนิยมปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลาย
การเดินทางของกล้วยมิได้หยุดอยู่แค่นั้น  เพราะในปี  ค.ศ. 1400  ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นนักเดินเรือผู้เก่งกล้าสามารถได้นำกล้วยไปยังหมู่เกาะคานารีด้วย
ปัจจุบันหมู่เกาะคานารีเป็นแหล่งปลูกกล้วยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก  หมู่เกาะนี้ในเวลาต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นเกาะประวัติศาสตร์ของการแพร่พันธุ์กล้วยสู่โลกใหม่
ความเป็นมาของกล้วยในประเทศไทยในตอนแรกได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า  กล้วยเป็นพืชเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน  และโดยทางประวัติศาสตร์แล้ว  ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดสำคัญของกล้วยป่าขึ้นชุกชุม
กล้วยที่ถือว่าเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของไทย เป็นกล้วยที่ขึ้นอยู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย  ได้แก่  กล้วยไข่ทองร่วง  กล้วยเล็บมือนาง  เป็นต้น
ประเทศไทยมีกล้วยหลากหลายพันธุ์  และสันนิฐานกันว่า  คนไทยเป็นชนชาติที่อพยพมาจากจีนตอนใต้  ซึ่งจีนตอนใต้นี้มีอาณาเขตอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย   ดังนั้นการอพยพของคนไทยจึงเป็นไปได้ว่าได้นำพันธุ์กล้วยที่เป็นสายพันธุ์จากอินเดียและจีนนำติดตัวมาด้วย  ทั้งนั้นเพราะกล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่ายให้ผลเร็ว  เหมาะสำหรับนำติดตัวปลูกไว้เป็นอาหารยามขาดแคลน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เคยมีการสำรวจสายพันธุ์กล้วยในประเทศไทย  พบว่ามีสายพันธุ์กล้วยในประเทศไทยมากถึง 323  สายพันธุ์

    ประโยชน์ของกล้วย  
       เราคงจะไม่ปฏิเสธว่า "กล้วย" เกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่ง สิ้นอายุขัย...
      ในสมัยโบราณ เมื่อสตรีจะคลอดบุตรมักจะมีการจัดเครื่องบูชาสำหรับหมอตำแยเพื่อทำพิธีกรรมที่เป็น มงคลแก่แม่ และลูกที่จะคลอดออกมา เครื่องบูชามักจะประกอบด้วย ขันข้าว ซึ่งบรรจุด้วยข้าวสาร เงิน และสิ่งของต่าง ๆ ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน และในจำนวนนี้จะต้องมีกล้วยอยู่เสมอ
      เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 3 เดือน และพร้อมที่จะรับประทานอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว แม่จะเริ่มให้ลูกรับประทานกล้วยควบคู่กับนม เพราะเห็นว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย
      เมื่อลูกโตขึ้น แม่ก็จะพยายามประดิษฐ์ของเล่นให้ลูก ของเล่นเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็มาจากกล้วย เป็นต้นว่า
  • นำก้านกล้วยมาทำเป็นปืนเด็กเล่น                        
  • นำก้านกล้วยมาทำเป็นม้าสำหรับขี่
  • นำใบตองมาม้วนทำเป็นปี่สำหรับเป่า
  • นำหยวกกล้วยมาทำเป็นทุ่น หรือแพ สำหรับหัดว่ายน้ำ
     ในวัยศึกษาเล่าเรียน กล้วย ก็เข้ามาสู่ห้องเรียนในลักษณะต่าง ๆ เช่น
  • ผูกเป็นปริศนาให้ทาย เช่น  "อะไรเอ่ย ต้นเท่าขา ใบวาเดียว"
  • ใช้เปรียบเทียบกับความงามของสุภาพสตรีในวรรณคดี เช่น  "เรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ที่ว่า ขาเธองามดุจลำกล้วย"
  • ใช้ในคำพังเพยเปรียบเทียบการทำลายล้างเผ่าพันธุ์อย่างถอนรากถอนโคลน    "โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก"
  • ใช้ในสำนวนหรือคำพังเพยแสดงความหมายว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น  ง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก     เรื่องกล้วย ๆ กล้วยมาก
     ตลอดช่วงชีวิตมนุษย์  สามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วย เช่น  ใช้เป็นอาหารคาว หวาน  ใช้ประดิษฐ์เป็ฯของใช้  ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค
     ในงานบวช และงานมงคลต่าง ๆ  กล้วย มักจะถุนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของงานในลักษณะต่าง ๆ เสมอ เช่น
  • ใบตองกล้วย  ถูกนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นบายศรีเป็นส่วนประกอบ ของพวงมาลัย
  • ก้านกล้วย และใบตอง  นำมาใช้เป็นกระทง 
  • กล้วยทั้งเครือ นำมาประดับบ้าน เวลามีงานมงคล
     เมื่อถึงคราวที่หนุ่ม สาวจะเข้าสู่พิธีแต่งงานกล้วยจะเป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่มักจะนำมาใช้ เป็นส่วนประกอบของงานเสมอ เช่น
  • ใช้ต้นกล้วยเป็นส่วนประกอบในขบวนแห่ขันหมาก
  • ใช้ผลกล้วย ใบกล้วย ก้าน และหยวกกล้วย เป็นส่วนประกอบในการประกอบพิธีการต่าง ๆ
     ในการปลูกสร้างบ้านเรือนกล้วยจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำพิธียกเสาเอกลงหลุมโดยเขามัก จะใช้หน่อกล้วยและต้นอ้อยผูกไว้ที่ปลายเสาเอกและเมื่อทำพิธียกเสาลงหลุมเสร็จก็จะปลดเอาหน่อกล้วย และต้นอ้อย ไปปลูกไว้ในบริเวณใกล้บ้าน พยายามประคับประคองให้เจริญงอกงามเพราะถือว่าเป็น เครื่องเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของเจ้าของบ้าน 
      จวบจนกระทั่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต มนุาย์เราก็ยังเกกี่ยวข้องกับกล้วยอย่างมิเสื่อมคลาย ในสมัยก่อน เขามักใช้ใบตองมารองศพ ใช้ต้นกล้วยมาสลักหยวก(แทงหยวก) ประดิษฐ์ในเมรุ หรือโลงศพ ใช้ต้นกล้วย ใบตอง ทำฐานเสียบดอกไม้ประดับในงานศพ "กล้วยเจ้าเอ๋ย...เจ้ามิเคยห่างหายไปจากข้าเราผูกพันกับเจ้า ตลอดมา และตัวข้าจะลืมเจ้าได้ฉันใดเล่าเพื่อนเอย"